วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

การละเล่นพื้นบ้านของภาคใต้อาทิ




ชื่อลิเกป่า
ภาคภาคใต้
จังหวัดกระบี่


ความเป็นมา
การเล่นลิเกป่าในจังหวัดกระบี่ สืบทอดกันมาไม่น้อยกว่า ๘๐ - ๑๐๐ ปีมาแล้วสันนิษฐานว่าน่าจะพัฒนาจากการเล่นของอาหรับเหมือนลิเกอื่นๆ คือ สืบเนื่องจากการสรรเสริญพระเจ้า บ้างก็ว่าดัดแปลงคำสวดมาประสมกับการสวดคฤหัสถ์ประสมดนตรีรำมะนา เรียกว่า ลิเกปันตน มีคำร้องภาษามาลายูปนภาษาไทยท้องถิ่น ต่อมามีการแต่งจำอวดออกมาเล่นเป็นชุดๆเรียกว่า "ลิเกสิบสองภาษา" แล้วมาแยกเล่นออกเป็น ๒ สาขา คือ
๑.ละกูเยา เป็นการร้องกลอนแก้กัน เป็นต้นทางของลำตัดและลิเกฮูลู
๒.อันดาเลาะ แสดงเบ็ดเตล็ดชุดภาษาต่างๆ เป็นต้นทางให้เกิดลิเก เช่น ลิเกทรงเครื่อง, ลิเกป่า ฯลฯ
บทเพลงที่ใช้ก็มี ๒ พวก คือ เพลงไอ้พิมเพเล ได้แก่ เพลงที่ลิเกทรงเครื่องใช้อยู่ทั่วไปและเพลงบุรันยาวา คือเพลงที่พวกลิเกป่าใช้
ลิเกป่าจึงน่าจะพัฒนามาจากลิเกสิบสองภาษาดังกล่าวแล้ว แต่ชุดที่ลิเกป่านิยมนำออกแสดงคือชุดแขกแดง ซึ่งถือเป็นชุดครู หลังจากนั้นจะแสดงชุดอื่นๆก็ได้ สรุปได้ว่าลิเกทุกชนิดมีแขกเป็นครูแน่นอน พวกลิเกป่าในจังหวัดกระบี่ในพิธีไหว้ครูจะต้องออกชื่อ" ผีชิน " เสมอ (ชิน- ยิน -ยินี เป็น ภาษาอาหรับ แปลว่า ผี , วิญญาณ, บรรพบุรุษ แขกแดง - จึงน่าจะหมายถึงแขกอาหรับ)
อุปกรณ์การเล่นและวิธีการเล่น
อุปกรณ์
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงลิเกป่า ประกอบด้วยรำมะนา ๒ ใบ กลอง โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และอาจมีการประสมประสานดนตรีชนิดอื่นๆบ้าง
การแต่งกาย ตัวเอกของเรื่องจะแต่งตัวแบบแขกสมัยก่อนนุ่งผ้าโจงกระเบน ปัจจุบันสวมกางเกงมีผ้าโสร่งคาดทับ สวมเสื้อสวมหมวกแขกหรือไม่ก็โพกศีรษะให้เหมือนแขก แต่งหน้าใส่หนวดเครา เสริมจมูก ตัวนางเอก (ยาหยี/ ยายี) แต่งกายแบบพื้นบ้านทางฝั่งทะเลตะวันตก คือนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอก มีผ้าคล้องไหล่ (แบบชุดย่าหยา) ตัวอื่นๆ แต่งตามความนิยม ถ้าแสดงชุดอื่น ๆ ที่มิใช่ชุดแขกแดงก็แต่งตัวตามท้องเรื่อง
วิธีการเล่น
๑.ดนตรีโหมโรงเสร็จแล้วไหว้ครู
๒.ว่าเพลงวง
๓.บอกชุด (ทั้ง ๑๒ ชุด ของลิเกสิบสองภาษาว่ามีอะไรบ้าง)
๔.ออกแขกแดง
๕.แสดงเรื่องของชุดแขกแดงไปจนจบ
๖.พิธีส่งครู เป็นการจบการแสดง
หลังจากจบชุดแขกแดงถ้าต้องการแสดงเรื่องอื่นๆต่อไปก็ได้ตามความต้องการเสร็จแล้วจึงส่งครูก่อนเลิกการแสดง
ภาษาที่ใช้ ตัวแขกแดงจะพูดภาษาไทยท้องถิ่นดัดเสียงให้รัวเหมือนแขก ตัวเสนา จะพูดภาษาท้องถิ่น เจ้าเมืองจะพูดภาษากลาง ยาหยีพูดสำเนียงท้องถิ่น
เนื้อเรื่อง ชุดแขกแดงมีว่า " มีแขกมาจากเมืองกะตา (กัลกัตตา ?) บ้างก็ว่ามาจากเมืองโอปุระ สุไหงปุระมาค้าขายทางฝั่งทะเลตะวันตกของไทย มาได้ภรรยา (ยายี / ยาหยี) เป็นสาวไทย อยู่มาวันหนึ่งแขกมีความคิดถึงบ้าน ก็ขึ้นไปร่ำลาเจ้าเมืองเพื่อเดินทางไปเยี่ยมบ้านเจ้าเมืองให้เสนาไปด้วยคนหนึ่ง แขกกับเสนาร่ำลาเจ้าเมืองไปหายาหยี ครั้งแรกยาหยีไม่ยอมเดินทางไปด้วยเพราะเป็นห่วงพ่อแม่ แขกทั้งปลอบทั้งขู่จนกระทั่งยาหยียอมไป ทั้งหมดลงเรือไปในทะเล ชมนก ชมปลา ไปเรื่อยจนกระทั่งถึงเมืองลักกะตา "
โอกาสที่เล่น
ลิเกป่าแสดงได้เกือบทุกงาน แล้วแต่เจ้าภาพจะรับไปแสดง โรงลิเกป่าเหมือนกับโรงมโนห์รา มีหลังคายกพื้นให้สูงขึ้นเพื่อความสะดวกของผู้ชม สมัยก่อนนั้นแสดงบนพื้นดินซึ่งไม่สะดวกมีฉากประกอบเหมือนมโนห์ราหรือลิเกอื่นๆทั่วไป การที่เรียกลิเกชนิดนี้ว่าลิเกป่า เห็นทีจะสืบเนื่องมาจากการเล่นที่ไม่ยึดถือแบบฉบับที่แน่นอน ขาดความสมบูรณ์ในทุกด้าน
ปัจจุบันลิเกป่าเสื่อมความนิยมลงไปมาก เพราะการแสดงและสิ่งบันเทิงอื่นๆมีอิทธิพลมากกว่า ผู้คนจึงรู้จักลิเกป่าน้อยลง ผู้ที่เล่นลิเกป่าได้จึงมักจะเป็นผู้สูงอายุ พร้อมที่จะล้มหายตายจากไปกับกาลเวลา ดังนั้นในระยะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถ้าหากไม่มีการอนุรักษ์การเล่นชนิดนี้ไว้ ก็คงจะหาดูลิเกป่าไม่ได้อีกเลย
คุณค่า
ลิเกป่านิยมเล่นกันแถบชนบท บ้านนาบ้านป่า เป็นการหาความสนุกสนานในยามว่างงาน เป็นลิเกสมัครเล่นไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลัก นิยมเล่นกันแถบชนบท บ้านนาบ้านป่า เป็นการหาความสนุกสนานในยามว่างงาน เป็นลิเกสมัครเล่นไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลัก แต่ถ้าใครรับไปแสดงในงานต่างๆ ก็จะรวมสมัครพรรคพวกไปเล่นได้ อัตราค่าแสดงก็ไม่แน่นอนแล้วแต่ข้อตกลงกับเจ้าภาพ เช่น ระยะเวลาที่แสดง ระยะทางและค่าพาหนะในการเดินทาง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น