วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ประโยชน์ของการละเล่นพื้นบ้านไทย

ประโยชน์ของการละเล่นพื้นบ้านไทย
อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย  
 
       การเล่นถือเป็นกิจกรรมตามธรรมชาติของเด็กๆ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความสนุกสนานหรือทำให้อารมณ์เบิกบานเท่านั้น แต่การเล่นมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในด้านต่างๆอย่างมากมาย ดังนั้น การเล่นจึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางด้านสติปัญญาของเด็ก ๆ ด้วย
      
       การเล่นมีหลายแบบ ทั้งเล่นคนเดียว เล่นกับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อนฝูง เล่นโดยใช้หรือไม่ใช้อุปกรณ์ เล่นกลางแจ้งหรือเล่นในร่ม สุดแต่จะคิดสรรหรือแล้วแต่ความพอใจหรือความสะดวก แต่สมัยนี้การเล่นส่วนใหญ่มักเน้นที่อุปกรณ์ จำพวกของเล่นสำหรับเด็กที่มีให้เลือกซื้อหามากมาย ซึ่งของเล่นบางอย่างก็มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น บล็อกที่ทำจากไม้หรือพลาสติก เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยฝึกการใช้สายตา มือ ฝึกสมาธิและรู้จักการแก้ปัญหา แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า จริงๆแล้วการเล่นแบบโบราณ หรือการละเล่นแบบไทยๆอย่างที่เด็กๆในสมัยก่อนเล่นกัน ก็มีคุณค่าและมีประโยชน์ไม่แพ้การเล่นแบบสมัยใหม่เลย
      
       การละเล่นแบบไทย แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
      
       1. การละเล่นในร่ม ที่มีบทร้องประกอบ เช่น แมงมุมขยุ้มหลังคา จ้ำจี้มะเขือเปราะ หรือที่ไม่มีบทร้องประกอบ เช่น หมากเก็บ หมากตะเกียบ เป่ากบ ตบแปะ อีขีดอีเขียน ปั่นแปะ นาฬิกาทางมะพร้าว
      
       ตัวอย่างของการละเล่นในร่ม
      
       ตีไก่ จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องครบคู่
      
       วิธีเล่น ผู้เล่นนำหญ้าแพรกที่มีหัวแข็งๆ คล้ายหัวไก่คนละกี่อันก็ได้ โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายมาจับคู่แข่งขันกัน โดยใช้หญ้าที่เก็บมาผลัดกันตีคนละที ระหว่างที่มีการตีให้แต่ละฝ่ายพยายามหลบหลีกคู่ต่อสู้เพื่อไม่ให้ตีถูกหญ้าของฝ่ายตน ฝ่ายใดตีหญ้าของอีกฝ่ายหักหรือขาด ก็ถือว่าเป็นฝ่ายชนะ แล้วจึงเปลี่ยนผู้เล่นไปเรื่อยจนครบคน
      
       ประโยชน์ที่เด็กได้รับ
       1. ฝึกการใช้สายตาในการสังเกต และฝึกความคล่องแคล่วว่องไวและความแม่นยำ ในการพยายามตีและหลบหลีกคู่ต่อสู้
       2. ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและแขนในการออกแรงตี
       3. ฝึกสมาธิและทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
       4. ฝึกความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น เพราะเป็นกิจกรรมที่เล่นคนเดียวไม่ได้
      
       2. การละเล่นกลางแจ้ง ที่มีบทร้องประกอบ เช่น รีรีข้าวสาร งูกินหาง อ้ายเข้อ้ายโขง มอญซ่อนผ้า โพงพาง หรือที่ไม่มีบทร้องประกอบ เช่น ขี่ม้าส่งเมือง ขี่ม้าก้านกล้วย ชักคะเย่อ ลูกข่าง ตี่จับ ห่วงยาง การเล่นว่าว กระโดดเชือกเดี่ยว กระโดดเชือกคู่ กระโดดเชือกหมู่ โปลิศจับขโมย วิ่งสามขา วิ่งสวมกระสอบ ยิงปืนก้านกล้วย
      
       ตัวอย่างของการละเล่นกลางแจ้ง

       ตี่จับ จำนวนผู้เล่น ไม่จำกัดจำนวน
      
       วิธีเล่น แบ่งเป็น2 ฝ่ายเท่าๆกันและจับไม้สั้นไม้ยาวหรือเป่ายิงฉุบว่าใครจะเริ่มตี่ก่อน ฝ่ายที่ตี่ก่อนเริ่มเล่นโดยเลือกพวกของตนคนหนึ่งเป็นคนเข้าไปตี่ คนตี่จะออกเสียง "ตี่" เข้าไปในแดนฝ่ายตรงข้าม เพื่อพยายายามแตะตัวฝ่ายตรงข้ามให้ได้ โดยเมื่อแตะได้แล้วต้องรีบวิ่งกลับมาที่แดนของตนให้เร็วที่สุด คนที่ถูกแตะก็จะต้องมาเป็นเชลยของฝ่ายตี่ เล่นกันเช่นนี้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดตัวผู้เล่น โดยฝ่ายที่มีเชลยอยู่มากก็จะถือว่าเป็นฝ่ายชนะไป
      
       ประโยชน์ที่เด็กได้รับ
       1. ฝึกให้เด็กๆมีความสามัคคีในการทำงานเป็นทีม ในการที่ต้องร่วมแรงร่วมใจในการพยายามช่วยให้เพื่อนในกลุ่มหลุดพ้นจากการเป็นเชลย
       2. ฝึกให้รู้จักคิด วางแผนและแก้ปัญหา
       3. เป็นการออกกำลังกายโดยตรง เพราะขณะที่เล่นนั้นเด็กได้เคลื่อนไหวทุกส่วน และช่วยให้ปอดแข็งแรง เพราะในขณะที่เป็นคนตี่นั้น ต้องกลั้นหายใจร้องตี่อยู่ตลอดเวลา
       4. เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน อารมณ์ดี จิตใจเบิกบาน
      
       นอกจากการละเล่นตามตัวอย่างที่ยกมานี้แล้ว ยังมีการละเล่นอื่นๆที่สามารถเล่นได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม เช่น เป่ายิงฉุบ ปิดตาตีหม้อ เก้าอี้ดนตรี ลิงชิงเสา หรือการละเล่นที่เลียนแบบการทำงานหรือการใช้ชีวิตของผู้ใหญ่ เช่น เล่นขายของ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นเป็นพ่อเป็นแม่
      
       คุณค่าและประโยชน์ของการละเล่นแบบไทย
      
       1. ด้านร่างกาย การละเล่นไทยไม่ว่าจะเป็นกลางแจ้งหรือว่าในร่ม ล้วนแต่ช่วยให้เด็กได้เคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อแล้วยังทำให้เด็กได้ออกกำลังกายด้วย เช่น การเล่นงูกินหาง ที่เด็กต้องโยกตัว วิ่ง ทำท่ากางแขนบิน หรือการเล่นตังเต ที่เด็กต้องกระโดด ต้องฝึกการทรงตัวจากการเขย่งเท้าข้างเดียว
      
       2. ด้านอารมณ์ การละเล่นไทยทุกประเภทเมื่อเด็กได้เล่นแล้วจะช่วยให้เด็กอารมณ์ดี เบิกบาน สดชื่น กระฉับกระเฉง สนุกสนาน คลายเครียด
      
       3. ด้านสังคม การละเล่นไทยส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นเป็นกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ถึงความสามัคคี ฝึกการเป็นผู้นำผู้ตาม ฝึกการยอมรับข้อตกลงและเคารพกฎกติกาในการเล่น รวมทั้งฝึกการมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ให้รู้จักรู้แพ้-รู้ชนะ-รู้อภัย
      
       4. ด้านสติปัญญา การละเล่นของไทยหลายประเภทช่วยฝึกทางด้านสติปัญญา เช่น การเล่นหมากเก็บ ช่วยฝึกเรื่องคณิตศาสตร์ ในการนับจำนวน การเล่นจ้ำจี้มะเขือเปราะและรีรีข้าวสาร ช่วยฝึกในเรื่องของภาษา จากคำศัพท์และคำคล้องจองที่ใช้ร้องประกอบในการเล่น การเล่นตี่จับ ที่ฝึกให้รู้จักวางแผนและใช้ความคิดในการแก้ไขปัญหา
      
       จะเห็นได้ว่าการละเล่นแบบไทยที่คุณพ่อคุณแม่เคยเล่นกันมาในสมัยเด็กมีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างมากมายไม่แพ้การเล่นแบบสมัยใหม่เลย ทั้งยังไม่ต้องสิ้นเปลืองอะไรด้วย แต่ปัจจุบันคงต้องยอมรับว่าการละเล่นแบบไทยนี้ค่อยๆถูกลืมเลือนไปจากสังคมของเราทุกที ซึ่งคงเป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งดีๆเหล่านี้จะหายไป หากเป็นไปได้ผู้เขียนอยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำการละเล่นแบบไทยนี้มาเล่นกับลูกๆบ้าง เช่น เล่นมอญซ่อนผ้า เล่นพ่องูแม่งู เล่นหมากเก็บ หรือตบแปะ ซึ่งการละเล่นเหล่านี้ทั้งเล่นได้ง่าย ทั้งสนุก เป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี และมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้านต่างๆของเด็กๆ และที่สำคัญยังได้ร่วมอนุรักษ์สิ่งดีๆเหล่านี้ไว้ให้อยู่ในสังคมไทยของเราต่อไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอขอบคุณกิจกรรมดีๆที่ได้ให้ความรู้ในการศึกษาค้นคว้าค่ะ

    ตอบลบ